วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2559




โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ(Aplastic anemia)



     


สาเหตุ...
บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ส่วนที่มีสาเหตุแน่ชัดอาจเกิดจากพิษของยาหรือสารเคมี ยาที่สำคัญได้แก่ คลอแรมเฟนิคอล เฟนิลบิวตาโซน ซัลฟา เฟนิโทอิน คาร์บามาซีพีน เอซีที เป็นต้น หรืออาจเกิดจากยาฆ่าแมลง สารเคมีที่มีสูตรเบนซิน เช่น สีทาบ้าน น้ำยาลบสี น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด จากทินเนอร์ รังสีต่างๆ รังสีบำบัด หรือเคมีบำบัด เหล่านี้เป็นต้น

อาการ...
ส่วนใหญ่จะมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีจุดพรายย้ำตามตัว มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดา เลือดออกออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกในตา เลือดออกในสมองเป็นต้น




อาจทำให้มีไข้เรื้อรังร่วมกับการติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ จากโรคติดเชื้อร่วมด้วย ตับ ม้าม หรือต่อมน้ำเหลืองจะไม่โตในผู้ป่วยโรคนี้ ถ้าโตอาจเป็นอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมีสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย
การตกเลือด หรือการติดเชื้อรุนแรงจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษอาจทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้

สิ่งที่ตรวจพบ...
มักตรวจพบว่ามีอาการไข้ ซีด มีจุดแดงพรายย้ำขึ้นตามตัว มีเลือดออกจากที่ต่างๆ

ภาวะแทรกซ้อน...
อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตกเลือด หรือติดเชื้อรุนแรงจนทำให้โลหิตเป็นพิษถึงตายได้


การรักษา...
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง หากเกิดความสงสัย แพทย์มักวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือด ซึ่งมักจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อย เม็ดเลือดขาวต่ำ อาจต่ำกว่า 2,000 ตัว/ลบ.มม. ซึ่งโดยปกติจะมีอยู่ถึง 5,000-10,000 ตัว) และเกล็ดเลือดต่ำกว่า 30,000 ตัว/ลบ.มม. ปกติจะมีอยู่ 200,000-400,000 ตัว ตรวจไขกระดูกพบว่าจำนวนเซลล์อ่อนของเม็ดเลือดทุกชนิดลดลงมาก จะพบเป็นไขมันและเยื่อพังผืดกระจายอยู่แทน
รักษาโดยการให้เลือดและเกล็ดเลือดถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย ในรายที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนควรให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
ในรายที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่า 500 ตัว/ลบ.มม. เกล็ดเลือดต่ำกว่า 20,000 ตัว/ลบ.มม.หรือเป็นรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง 3 เดือน หรืออาจถึง 1 ปี
ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปีที่เกิดภาวะนี้ การปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีการรักษาที่มักได้ผลดี แต่ในรายที่อายุเกิน 50 ปี หรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้จะให้แอนติไทโมไซต์โกลบูลิน ขนาดวันละ 40 มก./กก. นาน 4 วัน ร่วมกับเพร็ดนิโซโลนขนาดวันละ 1-2 มก./กก. แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงเพื่อป้องกันการแพ้ ในบางรายอาจให้ ไซโคลสปอรีน ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย โดยให้ขนาด 6 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง นาน 6 เดือน และให้การรักษาตามอาการที่เกิด เช่น ถ้ามีโรคติดเชื้อก็ให้ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีเลือดออกมากหรือซีดก็ให้เลือด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารเคมีหรือยาที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของโรค



ข้อแนะนำ...
1. ควรหลีกเลี่ยงยาและสารเคมีที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ และไม่ควรใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ
2. ควรให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยให้มีความอดทนในการติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพราะโรคนี้มีทางรักษาให้หายขาดได้


แหล่งที่มา : http://www.healthcarethai.com

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2559


โรคเกล็ดเลือดต่ำ(Thrombocytopenia)

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) เป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเลือดออกผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายมีเกล็ดเลือดต่ำมาก และเมื่อไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจเกิดอาการเลือดออกจนเสียชีวิตได้ สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำมีได้หลายอย่าง หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม สามารถทำให้ผู้ป่วยหายและมีชีวิตเป็นปกติได้
เกล็ดเลือด (Platelet) เป็นส่วนหนึ่งของเม็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือด (ในกระแสเลือดมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด) มีหน้าที่สำคัญทำให้เลือดอยู่ในภาวะปกติ ไม่เกิดเลือดออกง่าย แต่หยุดยาก โดยจำนวนและหน้าที่ของเกล็ดเลือดต้องปกติ

สาเหตุของโรคเกล็ดเลือดต่ำ 
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดของโรคนี้ที่แน่นอน แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคได้ดังนี้
1. ได้รับเชื้อไวรัสบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย และเกิดการฟักตัวจนเกิดเป็นโรคนี้ขึ้น
2. ผู้ที่อยู่ในภาวะโลหิตจาง หรือโรคธาลัสซีเมีย ทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงลดจำนวนลง
3. การเสียเลือดมากจากการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ
4. ผู้ที่มีปัญหาเป็นโรคเกี่ยวกับเลือดต่างๆ เช่น มีเลือดออกแบบผิดปกติ หรือเป็นโรคซีด เป็นต้น
5.เกิดจากกรรมพันธุ์ ที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน
6. จากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เต็มไปด้วยมลภาวะในอากาศ
7.อาจได้รับสารเคมีบางอย่างจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ
8. การรับประทานอาหารที่มีสารเคมีปะปนอยู่
9. ผู้ที่อยู่ในภาวะภูมิต้านทานโรคบกพร่อง หรือร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับโรคต่างๆ ได้
10. ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือระบบน้ำเหลืองต่างๆ ผิดปกติ
11.เกิดจากเซลล์พลาสมาที่ผิดปกติ ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้ได้
12. ผู้ที่ได้รับการกระทบกระเทือนจากภายนอกสู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นม้ามแตก หรือช็อกโกแลตซีสต์ เป็นต้น
13. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำ
14.การได้รับยาบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย
15. เม็ดเลือดแดงเกิดการแตกแบบฉับพลัน
16. ภาวะที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก
17. มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
18. ผู้ที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร
19. ผู้ที่ป่วยด้วยโรค SLE หรือโรคภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง
20. ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำมีอาการอย่างไร?
เมื่อเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อยอาจไม่มีอาการอะไรเลย ไม่มีเลือดออกที่ใด แต่เมื่อเกล็ดเลือดต่ำถึงระดับหนึ่ง จะมีอาการเลือดออก อาการเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ มักเกิดที่ผิวหนังเป็นจุดเลือดออกแดงๆ คล้ายยุงกัด กดแล้วไม่จางหายไป (หากเป็นจุดยุงกัดเมื่อกดแล้วจะจางลง) หรือเป็นจ้ำเลือดออกตื้นๆ (Ecchymosis) ซึ่งบางคนเรียกว่า พรายย้ำ 
จ้ำเลือดปกติ คลำดูจะเรียบแต่บางครั้งคลำดูเหมือนมีไตแข็งขนาดเมล็ดถั่วเขียวอยู่ตรงกลางจ้ำเลือดก็ได้ จ้ำเลือดจะมีสีม่วงปนเหลืองเนื่องจากเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในตำแหน่งเลือดออกจะแตกตัวได้สารสีเหลือง สีจ้ำเลือดจะไม่สม่ำเสมอ แล้วแต่การแตกตัวของเม็ดเลือดแดงก่อนหลัง หากมีจ้ำเป็นสีน้ำตาลเสมอกันอาจไม่ใช่จ้ำเลือด อาจเกิดจากการแพ้ยาบางชนิด ซึ่งเรียกว่า fixed drug eruption  บางคนอาจมีเลือดออกแถวเยื่อเมือกบุในช่องปาก เลือดออกที่เหงือก ในหญิงที่มีประ จำเดือนแล้ว อาจมีเลือดประจำเดือนออกมาก บางคนมีปัสสาวะเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรือถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนเส้นผม หรือยางมะตอย
อาการเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำเพียงสาเหตุเดียว มักไม่มีเลือดออกในข้อหรือในกล้ามเนื้อลึกๆ หากมีอาการดังกล่าวต้องหาสาเหตุของเลือดออกจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือดผิดปกติด้วย

แพทย์วินิจฉัยภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างไร?
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจะวินิจฉัยเมื่อเกล็ดเลือดมีจำนวนน้อยกว่า 150,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ค่าปกติของเกล็ดเลือดคือ 150,000 ถึง 450,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร เมื่อเกล็ดเลือดต่ำกว่า 100,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร จะมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก โอกาสที่เลือดจะออกได้เองโดยไม่มีบาดแผล เกิดเมื่อเกล็ดเลือดเหลือน้อยกว่า 20,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร


ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการเลือดออกผิดปกติ เช่น จุดเลือดออกตามตัว จ้ำเลือดตามตัว มีเลือดออกที่เยื่อเมือกบุช่องปากเลือดออกตามไรฟัน มีประจำเดือนมากผิดปกติ มีเลือด ออกจากทางเดินอาหาร ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนเส้นผมหรือยางมะตอย ปัสสาวะเป็นเลือด หรือเมื่อมีเลือดออก เลือดจะหยุดยาก เช่น ถอนฟันแล้วเลือดไหลไม่หยุด หรือมีเลือดออกจากแผลผ่าตัด เป็นต้น
หากมีจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือด หรือมีเลือดออกผิดปกติที่ใด แล้วมีอาการปวดศีรษะอาเจียนพุ่ง ซึมลง ต้องรีบไปโรงพยาบาลด่วน เนื่องจากอาจมีเลือดออกในสมอง ซึ่งต้องวินิจฉัยและรักษาทันท่วงที


แพทย์จะทำอย่างไรเมื่อผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ?

แพทย์จะดำเนินการ ดังนี้ เมื่อสงสัยผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ
1. ซักประวัติโดยละเอียด เช่น ประวัติการมีเลือดออก ตำแหน่งที่เลือดออก โดยแพทย์จะแยกว่า เป็นเลือดออกเฉพาะที่ หรือเป็นเลือดออกจากเกล็ดเลือดต่ำ เช่น การมีหลอดเลือดฝอยที่ผนังกั้นกลางจมูกผิดปกติ หลอดเลือดจึงเปราะแตกง่าย ทำให้มีเลือดกำเดาออกที่เดียว แต่ถ้าเป็นจากเกล็ดเลือดต่ำ น่าจะมีเลือดออกหลายๆที่ และลักษณะของเลือดออกพอจะบอกได้ว่า เป็นจากเกล็ดเลือดต่ำหรือจากเลือดออกจากปัจจัยการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ แพทย์จะซักประวัติการใช้ยามาก่อน ประวัติมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น มีการติดเชื้อนำมาก่อน การฉีดวัคซีนบางชนิดในผู้ป่วยเด็ก อาจสัมพันธ์กับการมีเกล็ดเลือดต่ำ เช่น ในโรค ITP หรือมีอาการปวดข้อ มีผมร่วง มีผื่น แพ้แสงแดด หรือมีภาวะซีดร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งมักพบในโรคเอสแอลอี
การติดเชื้อไวรัส เช่น โรคไข้เลือดออก ทำให้เกล็ดเลือดต่ำหลังจากมีไข้สูงประมาณ 3 วัน แต่ก็จะกลับมาปกติในวันที่ 8 ถึง 10
2.ตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุที่จะทำให้เกล็ดเลือดต่ำว่าเกิดจากโรคอะไร ดังได้กล่าวในสาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำ
3.การตรวจพิสูจน์ว่าเกล็ดเลือดต่ำจริง ไม่ได้เกิดจากเทคนิคทางห้องปฏิบัติการผิด พลาด เช่น บางทีเกล็ดเลือดอาจเกาะกลุ่มกัน ทำให้การตรวจนับด้วยเครื่องนับอัตโนมัติผิด พลาดไป ซึ่งแพทย์จะเอาแผ่นแก้ว/สไลด์ (Slide) ที่ สเมียร์เลือด (Smear,ทำให้เลือดเป็นแผ่นบางๆบนแผ่นแก้ว) มาตรวจสอบ แพทย์จะดูว่าเกล็ดเลือดต่ำจริงหรือไม่ โดยนับเกล็ดเลือดในสไลด์และตรวจว่าเกล็ดเลือดรูปร่างผิดปกติหรือไม่ เม็ดเลือดขาวผิดปกติ หรือมีเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ ตลอดจนเม็ดเลือดแดงผิดปกติหรือไม่
4.ตรวจหาสาเหตุตามที่สงสัยจากประวัติและการตรวจร่างกาย เช่น อาจมีการเจาะเลือดเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นโรค เอสแอลอี หรือไม่ อาจตรวจไขกระดูกหาความผิดปกติต่างๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือบางโรคที่ไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ หรืออาจรอเฝ้าดูให้เกล็ดเลือดสูงขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือให้การรักษาไปก่อนแล้วติดตามดู เป็นต้น
5.การรักษา แพทย์จะรักษาตามความรีบด่วนของอาการ และตามสาเหตุ (ซึ่งจะแตก ต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น รักษาโรคเอสแอลอี เป็นต้น) เช่น หากมีเลือดออกมากต้องห้ามเลือด และให้เกล็ดเลือดทดแทนก่อน ยกเว้นกรณีที่ให้เกล็ดเลือดแล้ว ไม่ทำให้ผู้ป่วยดีขึ้น แต่กลับทำให้เกล็ดเลือดอาจถูกทำลายมากขึ้น เป็นต้น


ข้อควรระวังเมื่อมีเกล็ดเลือดต่ำ
ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำหัตถการต่างๆ เช่น ฉีดยา ถอฟัน หรือผ่าตัด เป็นต้น

ข้อปฏิบัติเมื่อเลือดออก
หากมีเลือดออกที่ใดที่หนึ่ง ให้ใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซแห้ง หรือสำลีแห้งกดไว้เพื่อไม่ให้เลือดไหลออกมาก หากมีเลือดกำเดาออกให้ก้มหน้าบีบจมูก และหายใจทางปาก แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไป




ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีเกล็ดเลือดต่ำ?
การดูแลตนเองเมื่อมีเกล็ดเลือดต่ำ ที่สำคัญ คือ
ปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ กินยาสม่ำเสมอถ้ามียา
1.  ระวังการกระทบกระแทก หรือเสี่ยงต่อการกระทบกระแทกอย่างแรง เช่น ขี่มอเตอร์ ไซค์ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย อาจถูกรถเฉี่ยวชนล้ม ศีรษะฟาด เลือดออกในสมอง หรือการปีนขึ้นไปทำงานในที่สูง เสี่ยงต่อการตกลงมา มีเลือดออกมาก ระวังการใช้ของมีคม เช่น มีดจะบาดได้และเลือดออกไม่หยุด การแปรงฟันต้องเลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่มมากๆ และต้องแปรงค่อยๆ
2. ในเด็ก ควรแนะนำกิจกรรม หรือกีฬาที่ไม่เสี่ยงต่อการหกล้มหรือมีเลือดออกง่าย เช่น วิ่งแข่ง เตะบอลล์ รักบี้ กีฬาที่ปลอดภัยที่แนะนำคือ ว่ายน้ำ ของเล่นควรเป็นพลาสติกที่ไม่แหลมคม เฟอร์นิเจอร์ในบ้านควรระวังที่มีมุมแหลมคม เด็กอาจวิ่ง หรือคลานไปชน ควรทำมุมให้มน
3. หัตถการต่างๆ ที่จะต้องทำ ได้แก่ ถอนฟัน ฉีดยา ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และแจ้งต่อผู้เกี่ยวข้องที่จะทำหัตถการว่า มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ


วิธีการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากโรคเกล็ดเลือดต่ำ
– หมั่นระมัดระวังตนเองจากการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเลือดไหลไม่หยุด
หากจะทำการถอนฟัน หรือทำการรักษาโรคใดๆ ควรแจ้งแพทย์เสมอว่าตนเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ
ไม่ออกกำลังกายที่เสี่ยงต่อภาวะการเกิดการกระแทกทำให้เลือดออกได้ง่าย อาจเปลี่ยนกิจกรรมไปเป็นการ
ว่ายน้ำแทน
ควรรับประทานยาหรือปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาอย่างเคร่งครัด


ที่มา: http://haamor.com
        http://www.eldercareinthai.com